การทำอิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร?
ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้กับคู่สามีภรรยาทุกคู่ ทำให้ต้องทุกข์ใจจากการพยายามมีลูก แต่ไม่สามารถมีลูกน้อยได้ตามความต้องการ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันเกิดทางเลือกในการรักษาภาวะมีบุตรยากหลายวิธี และหนึ่งในวิธีรักษาที่ให้ผลสำเร็จสูงสุด ได้แก่ การทำอิ๊กซี่
การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ อิ๊กซี่ คือ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยใช้เข็มขนาดเล็กฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรงแบบเจาะจงเพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ ปัจจุบันถือเป็นวิธีรักษาภาวะผู้มีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่น ๆ มีความปลอดภัย แม่นยำสูง และได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ในการทำอิ๊กซี่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์จะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรง สมบูรณ์ และเคลื่อนไหวตัวที่ดีที่สุดเพียง 1 ตัวจากฝ่ายชาย และฉีดเข้าสู่ไข่ 1 ใบของฝ่ายหญิงโดยตรงโดยใช้เข็มขนาดเล็กเพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ การทำอิ๊กซี่จึงเป็นการหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่อสุจิอาจต้องเจอเมื่อพยายามจะเจาะเข้าไปในไข่ จากนั้น แพทย์จะเพาะเลี้ยงจนได้เป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) จากนั้นจึงนำเอาตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตและฝังตัวอย่างเหมาะสมในครรภ์มารดา
ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่
การทำอิ๊กซี่ มีขั้นตอนหลัก ๆ คือ
- เริ่มจากการพบแพทย์ (Consultation): แพทย์ผู้ชำนาญการ จะตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตรวจดูระดับฮอร์โมน, ความสมบูรณ์ของไข่และอสุจิ เป็นต้น
- กระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation): ในวันที่ 2-3 ของการมีรอบเดือนแพทย์จะให้ยากระตุ้นไข่แก่ฝ่ายหญิง เพื่อกระตุ้นให้เกิดไข่ตกและได้ไข่ที่สมบูรณ์หลาย ๆ ใบ โดยแพทย์จะทำการนัดเข้ามาที่คลินิกเพื่อทำการอัลตร้าซาวด์ และดูการเจริญเติบโตของไข่ และตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเป็นระยะ โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาน 8 – 10วัน
- เก็บไข่ (Egg Retrieval): แพทย์ใช้เข็มดูดไข่เพื่อเก็บไข่ออกจากร่างกายผ่านช่องคลอด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบอ่อนๆ เพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัวที่อาจเกิดขึ้นขณะการเก็บไข่ โดยไข่ที่เก็บออกมานั้นจะถูกเก็บไว้ในจานบรรจุสารละลายเฉพาะและเก็บไว้ในตู้ที่มีการควบคุมสภาวะให้เหมาะสม
- เก็บและคัดเลือกอสุจิ (Sperm collection): ฝ่ายชายเก็บตัวอย่างอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเองและหลั่งออกมาในภาชนะปลอดเชื้อ จากนั้นส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อคัดเลือกตัวอสุจิ
- การปฏิสนธิ (Fertilization): แพทย์นำไข่และอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมาผสมกันในจานเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการและทิ้งระยะเวลาอย่างเหมาะสมเพื่อรอให้เกิดการปฏิสนธิ โดยหากใช้วิธีการ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ขั้นตอนและกระบวนการจะเหมือนการทำ IVF (In Vitro Fertilization) แต่วิธีการทำ ICSI จะเพิ่มอีกหนึ่งตัวช่วยในกระบวนการปฏิสนธิ โดยวิธีการคัดอสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่เล็กมากเจาะไปที่เปลือกของเซลล์ไข่ แล้วฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือในกรณีที่เคยล้มเหลวจากการทำ IVF
- การเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Culture): การเลี้ยงตัวอ่อนภายหลังการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (Blastocyst Culture) คือ การเลี้ยงตัวอ่อนภายหลังจากการปฏิสนธิของเชื้ออสุจิและเซลล์ไข่ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาให้มีความใกล้เคียงและเลียนแบบภายในร่างกายมนุษย์ให้ได้มากที่สุด โดยจะมีอุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง ก๊าซในปริมาณที่เหมาะสม และปลอดเชื้อ หลังจากนั้นเซลล์เหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) ในกระบวนการนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมและตัวอ่อนสมบูรณ์ที่สุดก่อนจะถูกย้ายและนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในขั้นตอนต่อไป
- การย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer): การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือการย้ายตัวอ่อนรอบสด และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
- การย้ายตัวอ่อนรอบสด คือ เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบที่มีการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ทันที โดยแพทย์จะทำหลังจากการนำไข่และอสุจิปฎิสนธินอกร่างกายและเลี้ยงตัวอ่อนจนอยู่ในระยะ 5 – 6 วัน หรือระยะ Blastocyst แล้ว ถ้าหากตัวอ่อนเติบโตดี แข็งแรง แพทย์ก็จะนัดคนไข้มาย้ายตัวอ่อนที่คัดเลือกเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป
- การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง คือ การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในรอบเดือนที่แพทย์ประเมินแล้วว่าผนังโพรงมดลูกนั้นมีความพร้อม โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอ่อนแช่แข็งเก็บไว้ และจะนำมาละลายในวันที่พร้อมสำหรับขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกและจากนั้นแพทย์จะนัดเข้ามาเพื่อตรวจติดตามการผลการตั้งครรภ์ต่อไป
- รอผลการตั้งครรภ์ (Pregnancy test): รอผลประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่
ข้อดีของการทำ ICSI
ปัจจุบัน การทำ ICSI คือ ทางเลือกในการรักษาภาวะมีลูกยากที่มีโอกาสสำเร็จมากกว่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น ช่วยให้ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ โรคทางกรรมพันธุ์ สามารถตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คู่รักวางแผนการตั้งครรภ์ในเวลาที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสได้บุตรที่ปกติ แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม เนื่องจากสามารถตรวจเช็คโครโมโซมของตัวอ่อน (PGT) ก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ลดความเสี่ยงทารกในครรภ์ได้รับยีนส์ผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม หรือธาลัสซีเมีย
นอกจากนี้ การทำ ICSI ยังไม่มีการผ่าตัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเพียงการคัดเลือกไข่จากฝ่ายหญิงนำออกมาผสมกับอสุจิจากฝ่ายชายและรอให้ตัวอ่อนเติบโต แล้วจึงนำใส่กลับเข้าไปที่โพรงมดลูก คู่รักที่ทำหมันแล้วก็สามารถทำได้ ทั้งเป็นหมันผูกหรือหมันตัด โดยที่ไม่จำเป็นต้องแก้หมันก่อน ตัวอ่อนและไข่ที่ได้จากการทำ ICSI ยัง สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นาน มากกว่า 10 ปี อีกด้วย
ข้อเสียของการทำ ICSI
โอกาสในการตั้งครรภ์จากการทำ ICSI นั้นแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก ใช้เวลานาน ในบางราย ผู้รับบริการอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาในระหว่างกระบวนการทำอิ๊กซี่ เช่น การกระตุ้นไข่ การป้องกันไข่สุก การเร่งไข่ให้สุก การเก็บไข่ ฯลฯ รวมถึงมีโอกาสเกิดอาการรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (OHSS) แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้จากการทำ IVF ยังรวมถึงการตั้งครรภ์ลูกแฝด ซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอาจฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่ แทนที่จะฝังตัวภายในมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์แข็งแรงของผู้เข้ารับบริการแต่ละราย แต่ก็เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก หรือพยายามมีลูก แต่ไม่สำเร็จ
การทำ ICSI เหมาะกับใคร
การทำ ICSI เหมาะกับคู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หรือได้ใช้วิธีกระตุ้นการตกไข่และการผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI: Intrauterine Insemination) มาแล้วแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ หรือ วิธี IVF (In Vitro Fertilization) มาแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีปริมาณและคุณภาพของไข่ลดลง มีภาวะตกไข่ผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนของรังไข่ มีเปลือกไข่หนา ท่อนำไข่บวมหรืออุดตัน ช็อกโกแลตซีสต์ มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ และความผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ รวมถึงฝ่ายชายที่มีภาวะมีบุตรยาก เช่น จำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนที่ช้า มีอสุจิไม่แข็งแรง อสุจิไม่มีคุณภาพ เป็นหมัน หรือทำหมันโดยการผูกท่อนำอสุจิ หรือคนในครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่ายมีประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรม ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงที่กำลังจะเริ่มรักษาโรคมะเร็ง หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยการทำ ICSI จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้
ภาวะแทรกซ้อนของการทำ ICSI
- ภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่โต
- ภาวะแทรกซ้อนจากการเก็บไข่ เช่น การติดเชื้อ
- ภาวะแทรกซ้อนจากการย้ายตัวอ่อน เช่น การตกเลือด
- ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์แฝด การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- หากตั้งครรภ์ลูกแฝดตั้งแต่สองคนขึ้นไป มักเสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ได้สูงกว่าครรภ์ปกติ
- ในบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำ ICSI
ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการทำ ICSI คือ อายุของฝ่ายหญิง เพราะยิ่งฝ่ายหญิงมีอายุมาก โอกาสในการตั้งครรภ์ก็น้อยลง เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ ทำให้อัตราปฏิสนธิลดลง แบ่งเซลล์ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดท้องลม หรือได้เป็นตัวอ่อนที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม นอกจากนี้ ความหนาและความเรียบของเยื่อบุโพรงมดลูกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน มดลูกที่พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนนั้นต้องเป็นมดลูกที่มีผนังมดลูกที่หนาพอ ใสเป็นวุ้น เรียงสวย และมดลูกต้องอุ่น ไม่เย็น และฝ่ายหญิงยังต้องมีการดูแลตนเองหลังย้ายตัวอ่อนอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวให้ได้มากที่สุด เนื่องจากช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัว
นอกจากปัจจัยจากฝ่ายหญิงแล้ว จำนวนอสุจิและคุณภาพของอสุจิก็มีผลต่ออัตราความสำเร็จในการทำ ICSI เช่นกัน หากฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ ได้แก่ จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี ฯลฯ ก็จะส่งผลต่อการปฏิสนธิเช่นเดียวกัน อสุจิที่ดีควรมีค่า pH ปกติระหว่าง 7.2 ถึง 8.0 และมีความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 16 ล้านตัว/มิลลิลิตร มีการเคลื่อนไหวดีและมีโครงสร้างดี จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำ ICSI ได้
โอกาสความสำเร็จของการทำ ICSI
อัตราความสำเร็จของการทำ ICSI ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของฝ่ายหญิง คุณภาพของไข่ ความสมบูรณ์ของอสุจิ เทคนิคที่ใช้ และประสบการณ์ของแพทย์ โดยมีอัตราปฏิสนธิกับไข่สำเร็จอยู่ที่ประมาณ 80-90%
ข้อควรปฏิบัติหลังจากทำ ICSI
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงเวลา
- เคลื่อนไหวร่างกายอย่างพอดี เช่น งดการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเดินมากเกินไปหรือยืนเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน แต่ก็ไม่ควรนอนติดเตียงตลอดเวลาหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย
- งดทำงานหนัก ยกของหนัก หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม รวมถึงประเภทที่ต้องมีการเกร็งหน้าท้อง เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งจากการเกร็งตัวของมดลูก
- หลีกเลี่ยงการขับรถหรือเดินทางไกล เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัวและส่งผลกระทบต่อกระบวนการฝังตัวอ่อน และลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ประเภทยำ ส้มตำ ของดอง หรืออาหารทะเล เพราะหากเกิดท้องผูกหรือท้องเสียจะส่งผลต่อการเกร็งหน้าท้อง
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะถึงวันนัดตรวจเลือดฮอร์โมนตั้งครรภ์ HCG และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดควรงดมีเพศสัมพันธ์ใน 14 วันแรก
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำใจให้สบาย ไม่เครียด
- งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีทุกชนิด เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดผม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น สเปรย์ฉีดยุง หากจำเป็น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กหรือสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- หากมีอาการเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ข้อแตกต่างของการทำ ICSI และ GIFT
การทำ GIFT และการทำ ICSI เป็นการรักษาผู้มีบุตรยากโดยการปฏิสนธิภายนอกร่างกายเหมือนกัน ต่างกันเพียงวิธีการนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก โดยการทำ GIFT เป็นการนำอสุจิและไข่มาผสมกันจนเกิดเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงผ่าตัดหน้าท้องเพื่อใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปยังท่อนำไข่ และปล่อยให้ตัวอ่อนเคลื่อนไปฝังตัวในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์เอง ส่วนการทำ ICSI จะเป็นการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ และเลี้ยงจนเกิดเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยไม่ต้องมีการผ่าตัด และสามารถตรวจดูโครโมโซมของตัวอ่อนเพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติทางโครโมโซมและเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่มากกว่า
ข้อแตกต่างของการทำ ICSI และ IVF
การทำ IVF และการทำ ICSI คือ วิธีเพิ่มการตั้งครรภ์ที่ดำเนินการภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เหมือนกัน แต่ IVF จะเป็นการผสมอสุจิหลายตัวกับไข่หลายใบเข้าด้วยกัน โดยนำอสุจิกับไข่มาอยู่ที่เดียวกันในจานเพาะเลี้ยง รอให้อสุจิไปว่ายชนรังไข่เองตามธรรมชาติ ปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิ และเพาะเลี้ยงจนถึงระยะที่เหมาะสม จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกและรอการฝังตัว ส่วนการทำ ICSI จะเป็นการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวและไข่ที่ดีที่สุด 1 ใบมาผสมกันโดยใช้เข็มฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิ เพาะเลี้ยงจนถึงระยะที่เหมาะสม ก่อนจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกและรอการฝังตัว โดยการทำ ICSI จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าการทำ IVF
ข้อแตกต่างของการทำ ICSI และ IUI
การทำ ICSI คือ เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ที่เริ่มจากการกระตุ้นไข่และเก็บออกมาจำนวนหลายใบ เพื่อนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายโดยการคัดเลือกอสุจิและไข่ที่ดีที่สุดมาผสมกันด้วยการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง หลังจากนั้นจึงเพาะเลี้ยงให้เป็นตัวอ่อนและฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูก เป็นการสร้างโอกาสให้อสุจิได้ผสมกับไข่ได้ง่ายกว่าปกติ ส่วนการทำ IUI คือ เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ที่มีการปฏิสนธิในร่างกายให้ไข่กับอสุจิผสมกันเองตามธรรมชาติ เริ่มต้นจากการกระตุ้นการตกไข่ จากนั้นจึงฉีดอสุจิที่เตรียมจากห้องปฏิบัติการและผ่านการคัดเลือกคุณภาพเข้าสู่โพรงมดลูกในวันที่ฝ่ายหญิงมีการตกไข่และปล่อยให้อสุจิกับไข่ปฏิสนธิกันเอง
ค่าใช้จ่ายในการทำ ICSI
ค่าใช้จ่ายในการทำ ICSI แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคลินิกแต่ละแห่ง โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายในการทำ ICSI จะอยู่ที่ประมาณ 100,000-200,000 บาท
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ ICSI
Q: ทำ ICSI เจ็บหรือไม่?
A: โดยทั่วไป ผู้รับบริการการทำ ICSI แทบจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด แต่จะรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยหรือรู้สึกไม่สบายตัวบ้างในระหว่างการใช้เข็มฉีดเข้าร่างกายหรือในขั้นตอนการกระตุ้นไข่ที่ต้องฉีดยาใต้ผิวหนัง ในส่วนการเก็บไข่ มักจะทำโดยใช้ยาสลบ เพราะฉะนั้นจึงมีความเจ็บปวดน้อยมาก ในบางรายพบว่ามีอาการปวดหน่วงเล็กน้อยบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองหลังการเก็บไข่ประมาณ 1-2 วัน
Q: การทำ ICSI ใช้เวลานานแค่ไหน?
A: การทำ ICSI ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน นับตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของร่างกาย ประเมินร่างกาย กระตุ้นให้ไข่ตก เก็บไข่ ผสมตัวอ่อนด้วยวิธีการ ICSI ปฏิสนธิ เพาะเลี้ยง และย้ายตัวอ่อน ก่อนจะทำการทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่
Q: การทำ ICSI มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
A: ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการทำ ICSI คือ อาการปวดท้อง ท้องอืด กดเจ็บที่บริเวณช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อยากระตุ้นมากเกินไป (OHSS: Ovarian Hyperstimulation Syndrome) รวมถึงอาการคล้ายกับคนตั้งครรภ์ เช่น ปวดเกร็งท้องน้อย เต้านมคัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการนอนไม่หลับเนื่องจากความวิตกกังวลของผู้เข้ารับบริการได้บ้าง แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองและไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว
Q: การทำ ICSI ปลอดภัยหรือไม่?
A: การทำ ICSI เป็นวิธีการที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงและการติดเชื้อจากการผ่าตัด แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น การตั้งครรภ์แฝด มีเลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่การเลือกรับบริการทำ ICSI ในคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและปลอดเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้อย่างมาก
Q: เด็กที่เกิดจากการทำ ICSI จะแตกต่างกับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติหรือไม่?
A: ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการ หรือความผิดปกติต่าง ๆ
Q: เป็นหมันทำ ICSI ได้ไหม?
A: สำหรับฝ่ายชายที่เป็นหมันหรือมีการทำหมันแล้ว สามารถทำ ICSI ได้เช่นกันโดยแพทย์จะทำการดูดน้ำเชื้อออกมาจากอัณฑะ แล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI ต่อไป
Q: ทำ ICSI ที่ไหนดี?
A: ในการเลือกใช้บริการทำ ICSI ผู้ใช้บริการควรเลือกคลินิกที่เชื่อถือได้ ดำเนินการและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ สามารถตอบทุกข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน มีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงใช้เทคโนโลยีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ทันสมัย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างตรงจุด สามารถเพิ่มอัตราผลลัพธ์การมีบุตรให้สำเร็จได้จริง
IVF Clinic
ข่าวล่าสุด