การทำฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI) คืออะไร?

เพราะในบางครั้ง ปัญหาการมีบุตรยากอาจเกิดจากอสุจิไม่สามารถวิ่งไปถึงไข่และเจาะเข้าไปในไข่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากไข่ของฝ่ายหญิงที่มีเปลือกหนา หรือสภาวะเป็นกรดของช่องคลอด ทำให้เชื้ออสุจิส่วนใหญ่อ่อนแรงหรือตายก่อนจะไปถึงท่อนำไข่ ยิ่งประกอบกับฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณ ความแข็งแรง หรือการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ ก็ยิ่งทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น ศาสตร์การแพทย์เจริญพันธุ์จึงได้คิดค้นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อลดอุปสรรคที่อสุจิอาจเผชิญและเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ด้วยการทำ IUI ซึ่งจะทำให้เชื้ออสุจิมีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ได้มากขึ้น

การฉีดเชื้อผสมเทียม (Intra – Uterine Insemination) หรือ IUI คือ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยการฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีความสมบูรณ์ แข็งแรง และเคลื่อนตัวได้ดีที่สุดเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรงผ่านการใช้สายสวนสำหรับทำ IUI สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายของตัวอสุจิ ร่นระยะทางการเคลื่อนที่ไปหาไข่ลง ทำให้อสุจิเข้าถึงท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ได้มากขึ้น โดยการทำ IUI จะทำในวันที่ไข่ตกพอดี จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ง่ายที่สุด และช่วยให้อสุจิสามารถผสมกับไข่ได้มากกว่าการผสมเองตามธรรมชาติ    

 

แม่ดูลูกจาก ultrasound

ขั้นตอนการทำ IUI

    1. เตรียมตัว: ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เตรียมสภาพจิตใจให้พร้อมสำหรับการทำ IUI
    2. ติดตามการตกไข่: แพทย์ติดตามการตกไข่ของฝ่ายหญิง โดยใช้ชุดตรวจฮอร์โมน LH หรือการอัลตราซาวด์
    3. กระตุ้นรังไข่: แพทย์อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นรังไข่เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ที่สมบูรณ์ เมื่อได้ฟองไข่ตามต้องการแล้วจึงฉีดยาให้ไข่ตก และนัดหมายวันทำ IUI
    4. เก็บอสุจิ: ฝ่ายชายเก็บตัวอย่างอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเอง ณ วันที่เข้ารับบริการฉีดเชื้อ
    5. เตรียมเชื้ออสุจิ: นักวิทยาศาสตร์เตรียมเชื้ออสุจิโดยคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรง สมบูรณ์ และเคลื่อนตัวได้ดี
    6. ฉีดเชื้ออสุจิ: แพทย์ฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โพรงมดลูกโดยใช้สายสวนสอดผ่านปากมดลูก
    7. รอผลการตั้งครรภ์: รอประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่

 

ข้อดีของการทำ IUI

การทำ IUI มีข้อดีหลายประการ โดยถือเป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากเบื้องต้น มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บตัว ไม่มีการผ่าตัด เป็นเพียงการฉีดอสุจิจากฝ่ายชายเข้าสู่มดลูกของฝ่ายหญิง หลังทำ IUI ไม่ต้องพักฟื้น นอกจากนี้ยังสามารถทำได้ทุกรอบเดือนและมีราคาไม่สูง และเมื่อเปรียบเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และ ICSI การทำ IUI มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามาก 

 

ข้อเสียของการทำ IUI

อัตราความสำเร็จต่ำกว่าวิธีอื่น เพราะ IUI มีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 10-15% เท่านั้น 

Hologram ทารกแรกเกิด

การทำ IUI เหมาะกับใคร

การทำ IUI นั้นเหมาะกับฝ่ายชายที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณอสุจิ เช่น ความเข้มข้นน้อย ปริมาณอสุจิน้อย อสุจิไม่แข็งแรงหรือเคลื่อนที่ได้ไม่ดีพอ หรือฝ่ายหญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีปัญหาการตกไข่ มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) มีปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูกหรือคอมดลูกตีบ ส่งผลให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าโพรงมดลูกได้ยาก รวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะแพ้น้ำเชื้อ ทำให้ช่องคลอดแดงหรือระคายเคืองเมื่อสัมผัสน้ำเชื้อ

 

การทำ IUI ไม่เหมาะกับใคร

การทำ IUI นั้นมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ที่อุดตัน เนื่องจากไข่จะไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่และปฏิสนธิได้ หรือมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจากภาวะเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ระดับรุนแรง โดย แพทย์อาจแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือทำ ICSI แทนเนื่องจากทั้งสองวิธีไม่ต้องอาศัยท่อนำไข่ ท่อนำน้ำเชื้อ ใช้จำนวนอสุจิน้อย ทั้งยังสามารถตรวจโรคทางพันธุกรรมได้ก่อนการตั้งครรภ์ด้วย

 

ภาวะแทรกซ้อนของการทำ IUI

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่โต
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการเก็บไข่ เช่น การติดเชื้อ
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการย้ายตัวอ่อน เช่น การตกเลือด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์แฝด การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • หากตั้งครรภ์ลูกแฝดตั้งแต่สองคนขึ้นไป มักเสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ได้สูงกว่าครรภ์ปกติ
  • ในบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

ultrasound จากท้องของคุณแม่

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำ IUI

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการทำ IUI นั้นไม่ต่างจากการทำ IVF หรือ การทำ ICSI คือ อายุของฝ่ายหญิง เพราะยิ่งฝ่ายหญิงมีอายุมาก โอกาสในการตั้งครรภ์ก็น้อยลง เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ ทำให้อัตราปฏิสนธิลดลง แบ่งเซลล์ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดท้องลม หรือได้เป็นตัวอ่อนที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม นอกจากนี้ ความหนาและความเรียบของเยื่อบุโพรงมดลูกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน มดลูกที่พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนนั้นต้องเป็นมดลูกที่มีผนังมดลูกที่หนาพอ ใสเป็นวุ้น เรียงสวย และมดลูกต้องอุ่น ไม่เย็น และฝ่ายหญิงยังต้องมีการดูแลตนเองหลังย้ายตัวอ่อนอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวให้ได้มากที่สุด เนื่องจากช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัว 

นอกจากปัจจัยจากฝ่ายหญิงแล้ว จำนวนอสุจิและคุณภาพของอสุจิก็มีผลต่ออัตราความสำเร็จในการทำ IUI เช่นกัน หากฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ ได้แก่ จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี ฯลฯ ก็จะส่งผลต่อการปฏิสนธิเช่นเดียวกัน อสุจิที่ดีควรมีค่า pH ปกติระหว่าง 7.2 ถึง 8.0 และมีความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 16 ล้านตัว/มิลลิลิตร มีการเคลื่อนไหวดีและมีโครงสร้างดี จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำ IUI ได้

 

โอกาสความสำเร็จของการทำ IUI

อัตราความสำเร็จของการทำ IUI ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของฝ่ายหญิง คุณภาพของไข่และอสุจิ เทคนิคที่ใช้ และประสบการณ์ของแพทย์ โดยทั่วไปแล้ว อัตราความสำเร็จของการทำ IUI อยู่ที่ประมาณ 10-15%

 

 

ข้อควรปฏิบัติหลังจากทำ IUI

การทำ IUI คือ การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายหญิงอย่างมาก ผู้เข้ารับการรักษาด้วยการทำ IUI จึงควรดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะในช่วงวันแรก ๆ เพื่อช่วยให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าไปที่ท่อนำไข่ได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ รวมถึง

  • หลังทำ IUI ฝ่ายหญิงควรนอนพักนิ่ง ๆ บนเตียงประมาณ 30 นาทีเพื่อให้อสุจิเดินทางไปถึงไข่ได้ง่ายขึ้น
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1-2 วันแรกหลังทำ IUI เพื่อไม่ให้มดลูกถูกรบกวน และทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น 
  • หลังจากทำ IUI ได้ 2-3 วัน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ใช้บริการมีเพศสัมพันธ์ซ้ำเพื่อให้มีเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกมากและเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
  • งดทำงานหนัก ยกของหนัก หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม รวมถึงประเภทที่ต้องมีการเกร็งหน้าท้อง เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งจากการเกร็งตัวของมดลูก
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือเดินทางไกล เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัวและส่งผลกระทบต่อกระบวนการฝังตัวอ่อน และลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ประเภทยำ ส้มตำ ของดอง หรืออาหารทะเล เพราะหากเกิดท้องผูกหรือท้องเสียจะส่งผลต่อการเกร็งหน้าท้อง
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำใจให้สบาย ไม่เครียด 
  • งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีทุกชนิด เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดผม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น สเปรย์ฉีดยุง หากจำเป็น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กหรือสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
  • หากมีอาการเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ทันที 

 

ข้อแตกต่างของการทำ IUI และ GIFT

การฉีดน้ำเชื้อ IUI คือ วิธีเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์โดยการนำอสุจิจากฝ่ายชายมาผ่านขบวนการคัดเลือกและฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยใช้จำนวนเชื้ออสุจิในปริมาณที่พอเหมาะและฉีดให้กับฝ่ายหญิงในช่วงเวลาที่ไข่ตก แต่การทำกิฟต์ GIFT คือ การดูดเอาไข่ที่ถูกกระตุ้นออกมาจากรังไข่ของฝ่ายหญิงผ่านทางหน้าท้อง แล้วนำมาผสมกับตัวอสุจิที่ผ่านการคัดเลือก จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ทันทีเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาด้วยการทำ GIFT จึงต้องเข้าห้องผ่าตัด มีการใช้ยาสลบ มีการกรีดแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง และต้องนอนพักฟื้น 1 คืน ในขณะที่การฉีดเชื้อ IUI จะเป็นเทคนิคใหม่ที่ไม่เจ็บตัว พักฟื้นแค่ 1-2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้

 

ข้อแตกต่างของการทำ IUI และ IVF

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF คือ การผสมไข่และอสุจิในจานเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้อสุจิเข้าผสมกับไข่เองตามธรรมชาติ และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ ก่อนย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งถือเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ส่วนการทำ IUI คือ การฉีดเชื้อผสมเทียมเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรงเพื่อเปิดโอกาสให้อสุจิจำนวนมากเข้าถึงท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ได้มากขึ้น ถือเป็นวิธีการปฏิสนธิในร่างกาย ลดอัตราการตายของตัวอสุจิ และเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับการทำ IVF ต่างกันที่วิธีปฏิสนธิ

 

ข้อแตกต่างของการทำ IUI และ ICSI

การทำ ICSI คือ เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ที่เริ่มจากการกระตุ้นไข่และเก็บออกมาจำนวนหลายใบ เพื่อนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายโดยการคัดเลือกอสุจิและไข่ที่ดีที่สุดมาผสมกัน โดยการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง หลังจากนั้นจึงเพาะเลี้ยงให้เป็นตัวอ่อนและฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูก เป็นการสร้างโอกาสให้อสุจิได้ผสมกับไข่ได้ง่ายกว่าปกติ ส่วนการทำ IUI คือ เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ที่มีการปฏิสนธิในร่างกายให้ไข่กับอสุจิผสมกันเองตามธรรมชาติ เริ่มต้นจากการกระตุ้นการตกไข่ จากนั้นจึงฉีดอสุจิที่เตรียมจากห้องปฏิบัติการและผ่านการคัดเลือกคุณภาพเข้าสู่โพรงมดลูกในวันที่ฝ่ายหญิงมีการตกไข่และปล่อยให้อสุจิกับไข่ปฏิสนธิกันเอง

 

ค่าใช้จ่ายในการทำ IUI

ค่าใช้จ่ายในการทำ IUI จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคลินิกแต่ละแห่ง โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อรอบการรักษา

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ IUI

Q: ทำ IUI เจ็บหรือไม่? 

A: การทำ IUI โดยทั่วไปจะไม่เจ็บเท่ากับวิธีรักษาอื่น ๆ แต่ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกปวดบีบเล็กน้อยระหว่างขั้นตอนการฉีดเชื้อผสมเทียม IUI ที่มีการใช้สายสวน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองบริเวณช่วงคลอด แต่ฝ่ายหญิงส่วนใหญ่มักเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวน้อยมาก หากมีอาการปวดท้อง สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ 

 

Q: การทำ IUI ใช้เวลานานแค่ไหน? 

A: การทำ IUI ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที และหลังทำ IUI ฝ่ายหญิงควรนอนพักนิ่ง ๆ บนเตียงประมาณ 30 นาทีเพื่อให้อสุจิเดินทางไปถึงไข่ได้ง่ายขึ้น จากนั้นสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติ

 

Q: การทำ IUI มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? 

A: ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการทำ IUI คือ อาการปวดท้อง ท้องอืด กดเจ็บที่บริเวณช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อยากระตุ้นมากเกินไป (OHSS: Ovarian Hyperstimulation Syndrome) ในกรณีที่ฝ่ายหญิงต้องใช้ยาหรือฉีดยาเพื่อกระตุ้นไข่ รวมถึงอาการคล้ายกับคนตั้งครรภ์ เช่น ปวดเกร็งท้องน้อย เต้านมคัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการนอนไม่หลับเนื่องจากความวิตกกังวลของผู้เข้ารับบริการได้บ้าง แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองและไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว

 

Q: การทำ IUI ปลอดภัยหรือไม่? 

A: การทำ IUI เป็นวิธีการที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงและการติดเชื้อจากการผ่าตัด แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น การตั้งครรภ์แฝด มีเลือดออกหรือติดเชื้อหลังการทำ IUI ซึ่งพบได้น้อยมาก รวมถึงการตั้งครรภ์แฝดที่มักจะเสี่ยงต่อการแท้งลูก คลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์

 

Q: การทำ IUI มีข้อจำกัดหรือไม่?

A: การทำ IUI มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ไม่เหมาะกับฝ่ายหญิงที่มีการตัดต่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้าง หรือทำการผูกท่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างแล้ว มีการอักเสบหรือติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน รวมถึงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขั้นรุนแรง

 

Q: ภาวะแทรกซ้อนของการทำ IUI มีอะไรบ้าง?

A: อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ้างจากการทำ IUI ได้แก่ อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อยลง หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก มีเลือดออกจากอวัยวะเพศ การอักเสบ การติดเชื้อ หรือฟกช้ำ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่โต ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกินขนาด (OHSS) หรือเกิดการติดเชื้อจากการฉีดอสุจิ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกใช้บริการกับคลินิกที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น 

 

Q: ฝ่ายหญิงอายุเกิน 35 ปี ทำ IUI ได้ไหม?

A: การทำ IUI ไม่มีข้อจำกัดในด้านอายุ หากอายุเกิน 35 ปีก็สามารถทำ IUI ได้ แต่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สำเร็จน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ของมดลูกและจำนวนไข่ที่ได้ในแต่ละรอบ

 

Q: ทำ IUI กี่ครั้ง ถึงควรเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่น?

A: ปกติแล้ว การทำ IUI จะให้ผลสำเร็จอยู่ที่ครั้งที่ 3-4 อย่างไรก็ตาม หากมีการทำ IUI ติดต่อกัน 6 รอบ แต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แพทย์จะพิจารณาให้เปลี่ยนการรักษาเป็นการทำ IVF หรือทำ ICSI แทน

 

Q: ทำ IUI ที่ไหนดี?

A: ในการเลือกใช้บริการทำ IUI ผู้ใช้บริการควรเลือกคลินิกที่เชื่อถือได้ ดำเนินการและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ สามารถตอบทุกข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน มีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงใช้เทคโนโลยีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ทันสมัย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างตรงจุด สามารถเพิ่มอัตราผลลัพธ์การมีบุตรให้สำเร็จได้จริง

 

IVF Clinic

ข่าวล่าสุด

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร ? มีประโยนช์อย่างไร สำหรับคนที่มีภาวะบุตรยาก

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร?

ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้กับคู่สามีภรรยาทุกคู่ ทำให้ต้องทุกข์ใจจา...
READ MORE

การแช่แข็งอสุจิ (Sperm Freezing)

ร่างกายของเพศชายจะเริ่มผลิตอสุจิเมื่ออายุได้ประมาณ 11-13 ปี และจะมีการ...
READ MORE

การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation)

เพราะในศาสตร์การเจริญพันธุ์ อายุคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ใ...
READ MORE