การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation)
เพราะในศาสตร์การเจริญพันธุ์ อายุคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในเพศหญิง ช่วงอายุที่เหมาะสำหรับการมีลูกจึงอยู่ในช่วง 20-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ร่างกายและระบบเจริญพันธุ์ยังคงแข็งแรง จากนั้นจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปจะเริ่มพบความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลง ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของไข่อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติเป็นเรื่องยากขึ้น
ในปัจจุบัน หนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลงและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น และในทางกลับกัน ผู้หญิงกลับมีจำนวนไข่ที่จำกัดและเสื่อมคุณภาพลง การฝากไข่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อมีความพร้อม โดยปราศจากความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์
การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation) คืออะไร
การเก็บรักษาเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดจากการกระตุ้น คัดเลือก และเจาะเก็บเซลล์จากรังไข่ แล้วจึงนำมาผ่านกระบวนการแช่แข็งเซลล์ไข่ในห้องที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อ มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม โดยปัจจุบันจะใช้นวัตกรรมการเก็บรักษาเซลล์ไข่ไว้ภายในไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ซึ่งเซลล์ไข่ที่ถูกแช่แข็งไว้ทุกเซลล์จะหยุดการทำงานและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เซลล์ไข่ยังคงมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในด้านของการเจริญพันธุ์(Assisted Reproductive Technology: ART)ได้เหมือนเดิม
โดยการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing) เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเก็บรักษาเซลล์ไข่ในกรณีที่ต้องการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในอนาคตหรือในระยะเวลาที่คู่สมรสพร้อมและเหมาะสม เพราะเมื่อเพศหญิงอายุมากขึ้น จำนวนไข่และคุณภาพจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อภาวะที่ทารกจะมีโครโมโซมที่ผิดปกติ เกิดภาวะแท้งบุตร หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นทั้งในทารกและคุณแม่เอง ดังนั้นการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)ไว้ตั้งแต่ในช่วงอายุที่เหมาะสม ก็จะได้เซลล์ไข่ที่มีคุณภาพและมีจำนวนที่พอเหมาะ พร้อมเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้อีกหนึ่งวิธี
ขั้นตอนการฝากไข่
-
- แสดงความจำนง: แพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อหาโรคติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และกรองว่าสามารถฝากไข่ได้หรือไม่
- กระตุ้นรังไข่: แพทย์อัลตราซาวด์เพื่อตรวจเช็คจำนวนไข่ ฉีดยากระตุ้นไข่ให้ฝ่ายหญิงเมื่อมีประจำเดือน เพื่อให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์จำนวนมาก เมื่อได้ขนาดไข่และจำนวนไข่ตามที่ต้องการแล้ว แพทย์ฉีดยาให้ไข่สุก
- เก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด: แพทย์ใช้เข็มดูดไข่เพื่อเก็บไข่ออกจากร่างกายผ่านช่องคลอดภายใต้การนำทางด้วยคลื่นอัลตราซาวด์และการใช้ยาระงับความรู้สึก
- แช่แข็งไข่: นักวิทยาศาสตร์คัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์เพื่อนำไปแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
- เก็บรักษา: ไข่ที่แช่แข็งจะถูกเก็บรักษาในถังไนโตรเจนเหลวเพื่อรอนำออกมาใช้งาน
ข้อดีของการฝากไข่
- ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก
การแช่แข็งไข่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ในฝ่ายหญิง โดยเฉพาะในกลุ่มเพศหญิงที่เริ่มมีอายุหรือมีภาวะมีบุตรยาก หรืออยู่ในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว IVF การฉีดเชื้อผสมเทียม IUI หรือต้องการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ โดยช่วยคงสภาพไข่ที่มีความสมบูรณ์ในช่วงที่ร่างกายยังคงแข็งแรงและอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์เต็มที่
- ช่วยคงสภาพเซลล์ไข่ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค
สำหรับเพศหญิงที่ต้องเข้ารับการรักษาโรค เช่น มะเร็ง การทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสีอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ไข่เสื่อมคุณภาพ การฝากไข่จึงเป็นทางเลือกในการเก็บรักษาไข่ในวันที่ร่างกายยังคงสมบูรณ์
- ช่วยเก็บสำรองไข่ไว้ใช้เมื่อต้องการ
การแช่แข็งไข่ ช่วยให้เพศหญิงสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อมีความพร้อม ซึ่งไข่ของเพศหญิงมักมีคุณภาพน้อยลงและมีจำนวนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องยาก หากแช่แข็งไข่ตอนอายุ 25 ปี เมื่ออายุ 35 ปี ก็ยังคงสามารถนำไข่ที่เกิดจากการเก็บในช่วงอายุ 25 ปีมาใช้ได้
- ป้องกันลูกเกิดมาผิดปกติ
การแช่แข็งไข่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของลูกที่อาจเกิดมามีความผิดปกติของโครโมโซมเนื่องจากอายุที่มากขึ้นได้
- ลดความวิตกกังวล
การแช่แข็งไข่ช่วยลดความกังวลสำหรับผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ที่อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าจะมีไข่ที่ยังคงพร้อมใช้งานได้ในอนาคต
ทำไมต้องฝากไข่
การฝากไข่หรือการแช่แข็งไข่ คือ ทางเลือกในการเก็บรักษาเซลล์ไข่ของเพศหญิงในสภาวะอุณหภูมิต่ำเพื่อรักษาความสมบูรณ์และคุณภาพของไข่ จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่วางแผนครอบครัวหรือต้องการมีบุตรในอนาคต
การแช่แข็งไข่จะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ไข่ของฝ่ายหญิงจะมีคุณภาพลดลง ทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การฝากไข่ยังเป็นทางเลือกสำคัญของผู้หญิงที่กำลังจะเข้ารับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดที่มักเป็นอันตรายต่อรังไข่ รวมถึงบางรายที่ต้องตัดรังไข่ออก ทำให้สามารถวางแผนการมีลูกได้หลังรักษาตัว หรือในผู้หญิงที่มีกรรมพันธุ์ รังไข่เสื่อมเร็วหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ทำให้มีทางเลือกในการเก็บไข่ไว้ใช้อนาคต ณ วันที่เซลล์ไข่ยังคงสภาพดี
การฝากไข่เหมาะกับใคร
- เพศหญิงที่ต้องการแช่แข็งไข่เพื่อการมีลูกในอนาคต
- เพศหญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี ที่ยังไม่พร้อมมีบุตร
- เพศหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI ในอนาคต
- เพศหญิงที่กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ กำลังรักษาโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับการฉายแสง เคมีบำบัด ซึ่งส่งผลต่อรังไข่ หรือการผ่าตัดที่อาจส่งผลต่อจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่
- เพศหญิงที่ต้องได้รับการผ่าตัดรังไข่ เช่น ซีสต์ มีเนื้องอกที่รังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งจะมีจำนวนไข่ลดลงหลังการผ่าตัด
- เพศหญิงที่มีกรรมพันธุ์ด้านระบบสืบพันธุ์ เช่น รังไข่เสื่อมเร็ว หมดประจำเดือนเร็ว ซึ่งมีระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์ได้สั้นกว่าปกติ
ข้อควรปฏิบัติก่อนเข้ารับบริการฝากไข่
- ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับบี
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สดชื่น หลีกเลี่ยงความเครียด
- ก่อนถึงกำหนดเวลาเก็บไข่ ควรงดน้ำ งดอาหารทุกชนิด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลให้กับร่างกาย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า บุหรี่ สารเสพติดก่อนเก็บและแช่แข็งไข่
อาการที่อาจพบหลังการฝากไข่
- หลังจากการเก็บไข่ที่มีการใช้ยาสลบ ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกคลื่นไส้เล็กน้อย
- บางรายอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยหรือแน่นท้องได้
- อาจพบอาการ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เป็นต้น จากการใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ส่งผลให้รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน (OHSS)
- อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้เข็มดูดไข่ เช่น มีเลือดออกเล็กน้อย การติดเชื้อในช่องท้อง หรือเกิดแผลที่ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ แต่หากกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โอกาสในการเกิดความเสี่ยงก็จะลดลง
วิธีดูแลตนเองหลังจากฝากไข่
- หลังเก็บไข่ ผู้เข้ารับบริการอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ควรขับรถกลับบ้านเองตามลำพัง ควรมีเพื่อนหรือญาติสนิทมาด้วย
- งดการมีเพศสัมพันธ์ ออกกำลังกายหนัก ยกของหนักในช่วง 7 วันแรก
- พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- รับประทานยาหรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ทำจิตใจให้สดชื่น ไม่วิตกกังวล หรือเครียด
- หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะลำบาก มีเลือดออกจากทางช่องคลอดมากผิดปกติ ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ทันที ห้ามซื้อยารับประทานเอง
สามารถเก็บรักษาไข่ได้นานเท่าไหร่หลังจากการทำ Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation
หากเซลล์ไข่ได้รับการแช่แข็งอย่างถูกวิธีที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส จะสามารถคงสภาพไข่ได้นานนับสิบปีหรือตลอดไป โดยไม่สูญเสียคุณภาพ เนื่องจากเซลล์ทุกเซลล์จะหยุดการทำงานไว้ ณ วันที่มีการเก็บไข่นั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation)
โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายในการฝากไข่จะอยู่ที่ราว 100,000-150,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล นอกจากนั้น ยังมีค่าฝากไข่รายปีราว 1,500-5,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและจำนวนไข่ที่ต้องการเก็บ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝากไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation)
Q: ฝากไข่ เจ็บไหม?
A: โดยทั่วไป ผู้รับบริการการฝากไข่แทบจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด แต่จะรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยหรือรู้สึกไม่สบายตัวบ้างในระหว่างการใช้เข็มฉีดเข้าร่างกายหรือในขั้นตอนการกระตุ้นไข่ที่ต้องฉีดยาใต้ผิวหนัง ในส่วนการเก็บไข่ มักจะทำโดยใช้ยาสลบ เพราะฉะนั้นจึงมีความเจ็บปวดน้อยมาก ในบางรายพบว่ามีอาการปวดหน่วงเล็กน้อยบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองหลังการเก็บไข่ประมาณ 1-2 วัน
Q: ฝากไข่ ปลอดภัยไหม?
A: การฝากไข่หรือแช่แข็งไข่ถือเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง แต่อาจพบความเสี่ยง เช่น มีเลือดออกหรือติดเชื้อ ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่การเลือกรับบริการฝากไข่ในคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและปลอดเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้อย่างมาก
Q: ฝากไข่มีขั้นตอนอย่างไร ยุ่งยากหรือไม่?
A: ไม่ยุ่งยาก โดยขั้นตอนของการฝากไข่จะเริ่มที่การตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคติดต่อ จากนั้นจึงรับการกระตุ้นรังไข่และกระตุ้นให้ไข่สุก เมื่อถึงกำหนด แพทย์จะนัดหมายเพื่อเก็บไข่ หลังเก็บไข่ ผู้เข้ารับบริการนอนพักนิ่ง ๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงกลับบ้านได้
Q: การแช่แข็งไข่ทำให้เซลล์ไข่เสื่อมคุณภาพหรือไม่?
A: การแช่แข็งไข่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของเซลล์ไข่แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการหยุดการทำงานของเซลล์อย่างฉับพลันเท่านั้น ส่วนไข่จะมีคุณภาพหรือสมบูรณ์มากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับอายุและคุณภาพของไข่ในวันที่เก็บไข่เป็นหลัก
Q: ทำไมต้องฝากไข่ตอนอายุยังน้อย?
A: ไข่ของผู้หญิงจะมีจำนวนและคุณภาพลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้ตั้งครรภ์ยากขึ้นตามไปด้วย การเก็บไข่จึงควรทำในวันที่มีร่างกายแข็งแรงหรือในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปีเพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพไว้ใช้ในอนาคต ยิ่งฝากไข่เร็วเท่าไร ไข่ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น
Q: สามารถแช่แข็งไข่ได้นานแค่ไหน?
A: ตามหลักแล้ว สามารถแช่แข็งไข่ไว้ได้ตลอดไป เพราะเป็นเพียงการหยุดการทำงานของเซลล์ในอุณหภูมิที่ติดลบ
Q: อายุ 40 ปี ยังฝากไข่ได้ไหม?
A: แม้จะมีอายุ 40 ปี ก็สามารถฝากไข่ได้หากร่างกายยังสามารถผลิตเซลล์ไข่เองได้ แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อประเมินร่างกายก่อนการฝากไข่
Q: ฝากไข่ ใช้เวลานานไหม?
A: การฝากไข่หนึ่งครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันแรกที่พบแพทย์ ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ตก จนถึงวันเก็บไข่ ส่วนในขั้นตอนการเก็บไข่ใช้เวลา 30-40 นาที ยังไม่รวมการพักฟื้นหลังเก็บไข่อีก 1-2 ชั่วโมง
Q: มีปัญหาเรื่องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ สามารถฝากไข่ได้ไหม?
A: ประจำเดือนไม่มา มา ๆ ขาด ๆ หรือมาไม่ปกติก็สามารถฝากไข่ได้ โดยแพทย์จะตรวจหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น หากรังไข่ยังคงผลิตไข่ได้ก็สามารถเก็บและฝากไข่ได้
Q: ถ้าต้องการนำไข่ออกมาใช้ ต้องทำอย่างไร?
A: เมื่อต้องการใช้ไข่ที่แช่แข็งไว้ นักวิทยาศาสตร์จะทำการละลายไข่โดยใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมโดยใช้เทคนิคและขั้นตอนในห้องปฏิบัติการ จากนั้น แพทย์จะตรวจดูคุณภาพและประเมินความสมบูรณ์ของไข่ และคัดเลือกวิธีปฏิสนธิที่เหมาะสมที่สุดก่อนที่จะทำการปฏิสนธิกับอสุจิเป็นตัวอ่อนและทำการย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อรอการฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป
Q: ทำ Egg Freezing ที่ไหนดี?
A: ในการเลือกใช้บริการ Egg Freezing ผู้ใช้บริการควรเลือกคลินิกที่เชื่อถือได้ ดำเนินการและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ สามารถตอบทุกข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน มีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงใช้เทคโนโลยีการแช่แข็งไข่ที่ทันสมัย
IVF Clinic
ข่าวล่าสุด