การแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing) คือ การเก็บรักษาเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดจากการกระตุ้น คัดเลือก และเจาะเก็บเซลล์จากรังไข่ แล้วจึงนำมาผ่านกระบวนการแช่แข็งเซลล์ไข่ในห้องที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อ มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม โดยปัจจุบันจะใช้นวัตกรรมการเก็บรักษาเซลล์ไข่ไว้ภายในไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ซึ่งเซลล์ไข่ที่ถูกแช่แข็งไว้ทุกเซลล์จะหยุดการทำงานและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เซลล์ไข่ยังคงมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในด้านของการเจริญพันธุ์(Assisted Reproductive Technology: ART)ได้เหมือนเดิม
โดยการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing) เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเก็บรักษาเซลล์ไข่ในกรณีที่ต้องการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในอนาคตหรือในระยะเวลาที่คู่สมรสพร้อมและเหมาะสม เพราะเมื่อเพศหญิงอายุมากขึ้น จำนวนไข่และคุณภาพจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อภาวะที่ทารกจะมีโครโมโซมที่ผิดปกติ เกิดภาวะแท้งบุตร หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นทั้งในทารกและคุณแม่เอง ดังนั้นการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)ไว้ตั้งแต่ในช่วงอายุที่เหมาะสม ก็จะได้เซลล์ไข่ที่มีคุณภาพและมีจำนวนที่พอเหมาะ พร้อมเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้อีกหนึ่งวิธี
การแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing) มีกระบวนการ ดังนี้
โดยปกติแล้วก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)นั้น จะต้องมีการกระตุ้นไข่ (Ovarian Stimulation) เพื่อให้ได้เซลล์ไข่ที่เจริญเติบโตที่สุด แข็งแรงที่สุด มีประสิทธิภาพ และสามารถเก็บเซลล์ไข่ให้ได้มากที่สุด
กระบวนการก่อนทำการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในครั้งแรกควรมาในช่วงเวลาไม่เกินวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน โดยทีมแพทย์จะทำการตรวจสอบประวัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศในช่วงวัยรุ่น ประวัติทางเพศ การเจ็บป่วยการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ การผ่าตัด การใช้ยา การสัมผัสกับสารบางชนิด เช่น กลุ่มของรังสี การดื่มแอลกอฮอล์ ยาหรือสารสเตอรอยด์ เคมีบำบัด และสารเคมีที่เป็นพิษ รวมถึงประวัติเกี่ยวกับการมีบุตรที่ผ่านมาด้วย
- ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด Screening เบื้องต้น และตรวจภายใน เพื่อคัดกรองระดับฮอร์โมน ความสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย เพราะฮอร์โมนหลายตัวมีบทบาทสำคัญในการสืบพันธุ์ที่สำคัญ และหลายตัวผลิตจากต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง และรังไข่ เช่น
- ฮอร์โมนFSH (Follicle-stimulating hormone) เป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงสภาพการทำงานของรังไข่
- ฮอร์โมนTSH เพื่อดูภาวการณ์ทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าสมดุลหรือไม่
- ฮอร์โมน AMH เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่หรือบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้
- ฮอร์โมนโพรแลกติน(Prolactin) ข้อบ่งชี้ถึงภาวะการมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
รวมถึงตรวจความผิดปกติของพัฒนาการทางเพศ และความผิดปกติของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ภายในร่วมด้วย
- ในบางกรณีต้องประเมินมดลูก ท่อนำไข่ และทำอัลตราซาวนด์(Ultrasound)ร่วมด้วย เพื่อประเมินความผิดปกติของโครงสร้างของมดลูก ขนาดและรูปร่างของมดลูก มีเนื้องอกหรือมีถุงน้ำในรังไข่หรือไม่
- การกระตุ้นเซลล์ไข่ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้ยากระตุ้นเซลล์ไข่ โดยอิงจากผลการตรวจร่างกาย การวิเคราะห์ และวินิจฉัย
- ทีมแพทย์จะนัดทำอัลตราซาวนด์(Ultrasound) เพื่อดูการเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ และขนาดของเซลล์ไข่ตาม พร้อมตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับยาฮอร์โมน โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 8-10วัน
- เมื่อทีมแพทย์ได้เซลล์ไข่ที่มีคุณภาพตามที่ต้องการแล้ว จะทำการฉีดยา เพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกหลังจากฉีดยา 36 ชั่วโมง
กระบวนการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)
หลังจากที่มีการกระตุ้นเซลล์ไข่ในเพศหญิงด้วยฮอร์โมนตามการวิเคราะห์และวินิจฉัยของทีมแพทย์จนได้เซลล์ไข่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ เจริญเติบโตได้ดี และมีขนาดตามที่ทีมแพทย์ต้องการแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing) ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
-
- ทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวางยานำสลบหรือให้ยาระงับความรู้สึกระยะสั้นทางหลอดเลือด เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดระหว่างทำการเจาะเก็บเซลล์ไข่
- การเจาะเก็บเซลล์ไข่จากรังไข่ โดยใช้เข็มขนาดเล็กที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ โดยดูดผ่านทางช่องคลอด พร้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีอัลตราซาวนด์(Ultrasound)เพื่อช่วยในการบอกทิศทาง โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาในการเก็บเซลล์ไข่ไม่เกิน 20-30 นาที
- เซลล์ไข่จะถูกส่งตรงไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อ และมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม พร้อมรอผลเพื่อยืนยันว่าสามารถทำการแช่แข็งได้
- นำเซลล์ไข่เข้าสู่กระบวนการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว(Rapid freezing) และนำไปเก็บไว้ในไนโตรเจนเหลวที่ -196 องศาเซลเซียส เพื่อให้ทุกเซลล์หยุดการทำงาน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เซลล์ไข่ยังคงมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่ พร้อมรอเวลานำออกมาใช้ในอนาคต
การแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing) จะสามารถเก็บไว้ได้ตลอดไปเท่าที่ยังมีไนโตรเจนเหลวแช่แข็งอยู่ โดยที่คุณภาพจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งเซลล์ไข่ (Egg Freezing) ที่เก็บไว้นี้สามารถใช้ในการรักษาภาวะปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ต่างๆ ในอนาคตได้
เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการตั้งครรภ์ด้วยการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)
ความสำเร็จของการตั้งครรภ์ด้วยการแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)นั้น ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น
- ปัญหาสุขภาพร่างกาย โรคประจำตัว ระดับและความสมดุลฮอร์โมน หรือความเครียด เป็นต้น
- ช่วงอายุ โดยจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ณ เวลาที่เก็บเซลล์ไข่ โดยปกติพบว่าในเพศหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่จะมีคุณภาพสูงมากกว่าเพศหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยโอกาสและอัตราที่จะตั้งครรภ์ก็มีความสำเร็จสูงตามไปด้วย
การนำเซลล์ไข่แช่แข็ง(Egg Freezing)มาใช้ มีผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนในทารกและคุณแม่หรือไม่?
ในปี พ.ศ.2529 ได้ให้กำเนิดทารกที่เกิดจากวิธีการแช่แข็งเซลล์ไข่(Egg Freezing)คนแรกของโลก ปัจจุบันยังสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติและยังแข็งแรงดีอยู่ และจากผลการวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมา ช่วยยืนยันได้ว่าการแช่แข็งเซลล์ไข่(Egg Freezing)นั้น มีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ทั้งในตัวทารกและคุณแม่เอง รวมถึงโอกาสการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมหรือการเกิดความพิการในทารกนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก
ใครบ้างที่ควรแช่แข็งและการเก็บรักษาเซลล์ไข่(Egg Freezing)
- ต้องการเก็บเซลล์ไข่ไว้ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนบางชนิดในอนาคตที่ส่งผลต่อทารก
- กรณีที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้วทั้งแบบ IVF และ ICSI แล้วสามีไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ ไม่มีเซลล์อสุจิในน้ำเชื้อหรือจำนวนเซลล์อสุจิไม่เพียงพอที่จะผสม
- ผู้ที่ไม่อยากมีคู่สมรส โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี แต่อยากมีบุตรในอนาคต
- คนไข้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็ง และต้องเข้ารับการฉายแสงหรือทำเคมีบำบัด ซึ่งส่งผลต่อเซลล์ไข่และระบบสืบพันธุ์ จึงจำเป็นต้องแช่แข็งเซลล์ไข่ไว้ ในกรณีที่ต้องการมีบุตรในอนาคต
- เพศหญิงที่มีปัญหาด้านพันธุกรรมบางชนิด โดยส่งผลให้รังไข่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ เช่น Turner syndrome, Fragile X syndrome เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องผ่าตัดรังไข่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ เนื้องอกในรังไข่ หรือช็อกโกแลตซีสต์