FAQs
ใช้ยาคุมมานาน ทำให้มีลูกยากจริงหรือไม่?
ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะแบบเม็ด แบบฉีด หรือแบบฝัง ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลทำให้มีลูกยาก เราสามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากการหยุดใช้ยาคุมกำเนิดได้เลย เพราะฮอร์โมนที่อยู่ในยาคุมกำเนิดแต่ละแบบ จะไม่หลงเหลือในระบบร่างกายหลังจากการหยุดใช้ โดยมีระยะเวลาแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของยาคุม เราจึงสามารถมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ
แต่หากคุณหยุดใช้ยาคุมมาเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปีแล้ว แต่ลูกน้อยยังไม่มาสักที อาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะมีบุตรยาก อันเนื่องมาจากปัจจัยอื่นๆควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
เมื่อไหร่ที่คุณควรพิจารณาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก?
สำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน35ปี : หากคุณพยายามตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก
หากคุณมีอายุระหว่าง35ถึง40ปี : แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อคุณพยายามตั้งครรภ์มาแล้ว 6 เดือน แต่ยังไม่สำเร็จ
หากคุณมีอายุมากกว่า40ปี : ในกรณีนี้คุณสามารถเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง ด้านการรักษามีบุตรยากได้เลย เพื่อให้การแนะนำหรือรักษาได้ทันที โดยที่ไม่เป็นจำเป็นต้องรอด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรมต่างๆ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขให้ตรงจุด จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้เจอลูกน้อยเร็วขึ้น
แฝดแท้ VS แฝดเทียม ต่างกันอย่างไร?
ฝาแฝดแท้ เกิดจากไข่ 1 ใบที่ปฏิสนธิกับอสุจิ 1 ตัว แล้วแบ่งตัว ออกเป็นตัวอ่อน 2 ตัวในระหว่างแบ่งเซลล์ จนพัฒนากลายเป็นทารกในครรภ์ 2 คนในที่สุด จะมีพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเพศ หรือ หน้าตา ฝาแฝดเทียม เกิดจากฝ่ายหญิงมีไข่ตก 2 ใบ ในรอบเดือนนั้น และไข่แต่ละใบก็ได้ปฏิสนธิกับอสุจิคนละตัว จนพัฒนาไปเป็น ทารก 2 คน ที่เติบโตอยู่ภายในมดลูกของฝ่ายหญิงในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้ฝาแฝดเทียมมีรูปร่างหน้าตาและเพศที่แตกต่างกันได้
ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้ง่ายขึ้น เพราะในการรักษาผู้มีบุตรยาก บางครั้งคุณหมอจำเป็นต้องใส่ตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จ นั่นกลับกลายเป็นว่าคุณแม่จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้นไปด้วย
การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งดีกว่ารอบสดจริงหรือไม่
การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen Cycle) เป็นการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก คนละรอบกับการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ โดยปกติจะย้ายในเดือนถัดไปหลังจากมีการเตรียมความพร้อมของมดลูกแล้ว ซึ่งตัวอ่อนจะถูกแช่แข็งเก็บไว้ ก่อนจะละลายออกมาเพื่อย้ายเข้าโพรงมดลูก
ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
- สามารถเตรียมมดลูกให้พร้อมต่อการย้ายตัวอ่อน
- สามารถทำการตรวจโครโมโซม (PGT) เพื่อหาความผิดปกติจากพันธุกรรม
- ลดปัญหาภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป
จึงทำให้การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงตามไปด้วย
การรักษาด้วย IVF และ ICSI แตกต่างกันอย่างไร
ทั้ง การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ (ICSI) คือการนำไข่และอสุจิ ออกมาปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ความแตกต่างอยู่ที่กระบวนการในการทำให้เกิดการปฏิสนธิ โดยการทำ IVF (In-vitro Fertilization) เป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียวและใช้เข็มฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ