การทำกิฟต์ (GIFT) คืออะไร?

การทำกิฟต์ (Gamete Intrafallopian Transfer) หรือ GIFT คือ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก แม้ในปัจจุบันวิธีนี้จะไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้ว แต่เราขอให้เกร็ดความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ดังนี้ การทำกิฟต์จะเป็นการดูดไข่ออกมาจากร่างกายของฝ่ายหญิงเพื่อนำไข่ที่ผ่านการกระตุ้นแล้วออกมาจากรังไข่ และนำมาผสมกับอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีคุณภาพดีภายนอกร่างกาย ก่อนจะนำกลับเข้าไปในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงทันทีเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ และเมื่อเกิดการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะเคลื่อนตัวไปฝังในโพรงมดลูก เกิดเป็นการตั้งครรภ์ และเติบโตเป็นทารกในที่สุด

 

หมอตรวจเช็คคนไข้

ขั้นตอนการทำกิฟต์

  1. กระตุ้นรังไข่: แพทย์ฉีดยากระตุ้นไข่ให้ฝ่ายหญิงเมื่อมีประจำเดือน เพื่อให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์จำนวนมากและกระตุ้นการตกไข่
  2. เก็บไข่: แพทย์ใช้เข็มดูดไข่ โดยเจาะถุงไข่แล้วดูดเอาไข่ภายในถุงออกมาผ่านทางช่องคลอด ภายใต้การนำทางด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ หรือเจาะผ่านหน้าท้อง โดยอาศัยกล้องตรวจผ่านช่องท้อง
  3. เก็บอสุจิ: ฝ่ายชายจะเก็บตัวอย่างอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเองและหลั่งลงในภาชนะเก็บน้ำเชื้อ
  4. ผสมไข่และอสุจิ: แพทย์นำไข่และอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมาผสมกันในห้องปฏิบัติการ
  5. ฉีดไข่และอสุจิ: แพทย์ฉีดไข่และอสุจิที่ผสมแล้วเข้าไปในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง 1 หรือ 2 ข้างผ่านทางหน้าท้อง โดยใช้การส่องกล้อง และรอเกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ

 

ข้อดีของการทำ GIFT

  • การทำ GIFT คือ หนึ่งในวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
  • การทำ GIFT เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • การทำ GIFT ช่วยแก้ไขปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากไข่ฝ่ายหญิงและเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย
  • การทำ GIFT มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และการทำอิ๊กซี่ ICSI
  • การทำ GIFT ช่วยกำหนดช่วงเวลาตั้งครรภ์ได้ เปิดโอกาสให้คู่รักสามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้เมื่อมีความพร้อมหรือถึงเวลาที่เหมาะสม

 

ข้อเสียของการทำ GIFT

  • เป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อน จึงไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน
  • มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหรือในขั้นตอนการเก็บไข่ เช่น ติดเชื้อ มีเลือดออก
  • อัตราความสำเร็จที่เกิดจากการทำ GIFT น้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และการทำ ICSI
  • การทำ GIFT ต้องมีการผ่าตัด จึงเจ็บตัวมากกว่าวิธีอื่น
  • มีความเสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ในกระบวนการทำ GIFT จะต้องมีการวางยาสลบและกรีดหน้าท้อง จึงต้องพักฟื้นนานกว่าวิธีอื่น

ตรวจเช็คครรภ์กับหมอ

การทำ GIFT เหมาะกับใคร

การทำ GIFT คือ การรักษาภาวะมีบุตรยากวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในอดีต จึงเหมาะกับคู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยฝ่ายชายอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพเชื้ออสุจิ เช่น มีจำนวนน้อยหรือไม่แข็งแรง รูปร่างผิดปกติ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อออกมาได้ และฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ ปัญหาการตกไข่ ปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือมีท่อนำไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์หรือใช้งานได้อย่างน้อย 1 ข้าง

 

การทำ GIFT ไม่เหมาะกับใคร

การทำ GIFT นั้นมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ที่อุดตันทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากไข่จะไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่และปฏิสนธิได้

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของการทำ GIFT

  • หลังจากการผ่าตัดอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น อาการปวด มีแผลและมีเลือดไหล
  • อาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก 
  • อาจเกิดการตั้งครรภ์ลูกแฝดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งมักเสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ได้สูงกว่าครรภ์ปกติ
  • ในบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดหัว เวียนหัว มีอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

Ultrasound เช็คตรวจครรภ์

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำ GIFT

อัตราความสำเร็จในการทำ GIFT จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กล่าวคือ ฝ่ายชายควรมีเชื้ออสุจิที่ปกติ เช่น มีความแข็งแรง สมบูรณ์ รูปร่างปกติ แต่มีปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศหรือการหลั่ง หรือมีเชื้ออสุจิผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่ต้องมีปริมาณตัวอสุจิมากพอหลังผ่านการคัดกรอง 

ส่วนฝ่ายหญิงไม่ควรมีอายุมากจนเกินไป เพราะให้อัตราปฏิสนธิลดลง แบ่งเซลล์ได้ไม่สมบูรณ์ หรือได้เป็นตัวอ่อนที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม นอกจากนี้จะต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติ ไม่ตัน หากมีท่อนำไข่ที่ปกติเพียงข้างเดียว โอกาสสำเร็จอาจน้อยลงตามลำดับ เพราะไข่อาจตกในท่อนำไข่ข้างที่ตัน ทำให้ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่และปฏิสนธิ รวมถึงต้องไม่มีพยาธิสภาพในมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจขัดขวางการทำ GIFT และการปฏิสนธิได้ 

 

โอกาสความสำเร็จของการทำ GIFT

ความสำเร็จของการทำ GIFT ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของฝ่ายหญิง คุณภาพของไข่และอสุจิ ความพร้อมทางด้านร่างกาย และประสบการณ์ของแพทย์ โดยทั่วไปแล้ว อัตราความสำเร็จของการทำกิฟต์อยู่ที่ประมาณ 20-30%

 

ข้อควรปฏิบัติหลังจากทำ GIFT

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการการทำ GIFT ฝ่ายหญิงควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ ลดความวิตกกังวล ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ รับประทานยาหรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง งดการยกของหนัก ทำงานหนัก และควรงดการออกกำลังกายในช่วงแรก หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะลำบาก ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ทันที ห้ามซื้อยารับประทานเอง

 

ข้อแตกต่างของการทำ GIFT และ IVF

การทำ GIFT (Gamete Intrafallopian Transfer) หรือที่เรียกกันว่า การทำกิฟต์ คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยการเจริญพันธุ์  โดยการดูดเอาไข่ที่ถูกกระตุ้นออกมาจากรังไข่ของฝ่ายหญิงผ่านทางหน้าท้อง แล้วนำมาผสมกับตัวอสุจิที่ผ่านการคัดเลือก จากนั้นจึงนำกลับเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาจึงต้องเข้าห้องผ่าตัด มีการใช้ยาสลบ มีการกรีดแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง และต้องนอนพักฟื้น 1 คืน ในขณะที่การทำเด็กหลอดแก้ว IVF จะเป็นเทคนิคใหม่ที่ใช้วิธีดูดไข่ออกมาทางช่องคลอดเพื่อปฏิสนธิภายนอกร่างกาย พักฟื้นแค่ 1-2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ 

 

ข้อแตกต่างของการทำ GIFT และ ICSI

การทำ GIFT และการทำ ICSI ต่างก็เป็นการรักษาผู้มีบุตรยากโดยการปฏิสนธิภายนอกร่างกายเหมือนกัน  ต่างกันเพียงวิธีการนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก โดยการทำ GIFT เป็นการนำอสุจิและไข่มาผสมกันจนเกิดเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงผ่าตัดหน้าท้องเพื่อใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปยังท่อนำไข่ และปล่อยให้ตัวอ่อนเคลื่อนไปฝังตัวในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์เอง ส่วนการทำ ICSI จะเป็นการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ และเลี้ยงจนเกิดเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยไม่ต้องมีการผ่าตัด และยังสามารถตรวจดูโครโมโซมของตัวอ่อนเพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติทางโครโมโซมและเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้

 

ข้อแตกต่างของการทำ GIFT และ IUI

การฉีดน้ำเชื้อ IUI คือ วิธีเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์โดยการนำอสุจิจากฝ่ายชายมาผ่านกระบวนการคัดเลือกและฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยใช้จำนวนเชื้ออสุจิในปริมาณที่พอเหมาะและฉีดให้กับฝ่ายหญิงในช่วงเวลาที่ไข่ตก แต่การทำกิฟต์ GIFT คือ การดูดเอาไข่ที่ถูกกระตุ้นออกมาจากรังไข่ของฝ่ายหญิงผ่านทางหน้าท้อง แล้วนำมาผสมกับตัวอสุจิที่ผ่านการคัดเลือก จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ทันทีเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาด้วยการทำ GIFT จึงต้องเข้าห้องผ่าตัด มีการใช้ยาสลบ มีการกรีดแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง และต้องนอนพักฟื้น 1 คืน ในขณะที่การฉีดเชื้อ IUI จะเป็นเทคนิคใหม่ที่ไม่เจ็บตัว พักฟื้นแค่ 1-2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้

 

ค่าใช้จ่ายในการทำ GIFT

เนื่องจากการทำ GIFT เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องมีการผ่าตัด การดมยาสลบ และการค้างคืนในคลินิกหรือโรงพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การทำ GIFT มีค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จอยู่ที่ราว 200,000 – 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้น ๆ

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ GIFT

Q: ทำ GIFT เจ็บไหม?

A: ในระหว่างกระบวนการทำ GIFT ฝ่ายหญิงอาจรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวบ้างเล็กน้อยในช่วงที่มีการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่ ส่วนในการเก็บไข่ แพทย์จะมีการฉีดยาชาเพื่อระงับความเจ็บปวด และมีการดมยาสลบในระหว่างดูดไข่ออกมา จึงอาจรู้สึกไม่สบายตัวขณะฉีดยาเท่านั้น  

 

Q: การทำ GIFT ปลอดภัยไหม?

A: การทำ GIFT เป็นวิธีที่ปลอดภัยวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจพบอาจพบอาการหรือภาวะแทรกซ้อนหลังการทำ GIFT ได้ เช่น อาการปวด มีแผล และมีเลือดไหลหลังการผ่าตัด การตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ลูกแฝด ซึ่งมักเสี่ยงต่อการแท้งลูก เป็นต้น

 

Q: ทำ GIFT ลูกแฝดได้ไหม?

A: โดยทั่วไปแล้ว การรักษาภาวะมีบุตรยากแต่ละวิธีมีโอกาสทำให้เกิดครรภ์แฝดได้ทั้งสิ้น แต่แพทย์มักจะไม่รับประกันการตั้งครรภ์แฝดเพื่อลดความคาดหวังของผู้ใช้บริการ

 

Q: การทำ GIFT เพิ่มโอกาสท้องได้จริงไหม?

A: การทำ GIFT นั้นช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกับวิธีอื่น ๆ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบันและมีอัตราความสำเร็จน้อยกว่าการทำ IVF หรือการทำ ICSI โดยการทำ GIFT คือ วิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่เพียงช่วยให้เซลล์ไข่และเซลล์อสุจิได้มาเจอกันเพื่อปฏิสนธิง่ายขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่ฝ่ายหญิงจะบาดเจ็บหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อีกทั้งต้องมีการพักฟื้น จึงทำให้ปัจจุบันไม่นิยมรักษาด้วยวิธีนี้

 

IVF Clinic

ข่าวล่าสุด

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร ? มีประโยนช์อย่างไร สำหรับคนที่มีภาวะบุตรยาก

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร?

ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้กับคู่สามีภรรยาทุกคู่ ทำให้ต้องทุกข์ใจจา...
READ MORE

การแช่แข็งอสุจิ (Sperm Freezing)

ร่างกายของเพศชายจะเริ่มผลิตอสุจิเมื่ออายุได้ประมาณ 11-13 ปี และจะมีการ...
READ MORE

การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ (Egg Freezing / Oocyte Cryopreservation)

เพราะในศาสตร์การเจริญพันธุ์ อายุคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ใ...
READ MORE